แนวทางสร้างสรรค์ผลงาน

          ศาสตราจารย์ชลูด เป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปะช่วงรอยต่อระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่ของ
วงการศิลปะสมัยใหม่ของไทย ท่านสนใจในผลงานศิลปะหลายรูปแบบและได้สร้างสรรค์ผลงาน
ศิลปะที่มีคุณค่าไว้เป็นจำนวนมากทั้งวาดเส้น จิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะภาพพิมพ์ และ สื่อ
ผสม โดยมีความเชื่อว่า ศิลปะคือสิ่งที่แสดงออกซึ่งแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ เพื่อความเป็น
มนุษย์ที่ดีขึ้นของมนุษยชาติ ศิลปินทุกคนจะแสดงความเป็นมนุษย์ตามทัศนะส่วนตัวออกมาในงาน
ของตนไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งเสมอ ไม่ว่าจะเน้นในด้านความเป็นจริงหรืออุดมคติ ด้านชีวิตหรือ
วิญญาณ ด้านรูปธรรมหรือนามธรรม ด้านลบหรือด้านบวกก็ตาม ทั้งนี้เพราะงานศิลปะเหล่านั้น
เป็นการแสดงออกของตัวศิลปินเอง เป็นการแสดงออกของมนุษย์ที่ตอบรับและตอบโต้กับสภาพ
แวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและทางสังคม ท่านเห็นว่า ความเป็นมนุษย์คือความดี และความดีนั้น
สามารถแสดงออกได้ด้วย " ความงาม "
ความดีคือ ความรัก ความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ และ
ความไม่เบียดเบียนระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และระหว่างมนุษย์กับชีวิตทั้งหลาย ดังนั้น งานศิลปะที่
ท่านทำขึ้นจึงมีแนวโน้มไปในทางที่ดีงาม สงบบริสุทธิ์ และอบอุ่นด้วยความเป็นพี่น้อง รูปแบบ
และเรื่องราวของงานอาจเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมและความจำเป็นในการแสดงออก แต่ชีวิต
ภายในซึ่งเป็นเนื้อหาสาระของงานศิลปะโดยตรงนั้นสำหรับท่านไม่มีการเปลี่ยนแปลง
          ความเชื่อที่ฝังอยู่ในใจของศิลปินเป็นแกนนำในการสร้างสรรค์ ที่จะให้เกิดการตอบรับ
และตอบโต้กับบางแง่มุมของปรากฎการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดความบันดาลใจที่จะทำงานใน
แต่ละชุด ความบันดาลใจนี้จะคลี่คลายต่อไปจนเป็นแนวความคิดหรือจุดหมายของการสร้างสรรค์
ต่อจากนั้น ศิลปินจะสรรหาเรื่องและรูปทรงที่สอดคล้องกับแนวความคิดมาเป็นจุดเริ่มต้น ผลงาน
ศิลปะของท่านที่ทำขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านความคิดและรูปแบบ
ซึ่งอาจจำแนกตามชุดของผลงานได้ดังนี้

          ผลงานรูปธรรมที่เรียบง่าย พ.ศ. 2496-2505 เป็นงานประเภทจิตรกรรมสีน้ำมัน
จิตรกรรมสีฝุ่นปิดทอง ภาพพิมพ์และประติมากรรม ผลงานในยุคแรกเป็นแบบเหมือนธรรมชาติ
(Realistic)ซึ่งพยายามแฝงลักษณะของความเป็นไทยเอาไว้ในงานด้วยเรื่องราว รูปทรงที่เรียบง่าย
และในเทคนิค ระยะแรกเป็นงานจิตรกรรมโดยใช้เรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีและการดำเนินชีวิต
ของคนไทยในชนบท ใช้วิธีการเขียนระบายสี การให้มิติของภาพและเทคนิคการใช้สีแบบ
จิตรกรรมไทย แต่ใช้รูปทรงที่เรียบง่ายและหนักแน่นตามลักษณะของตนเอง ได้แก่ รูปทรงผู้หญิง
ในอิริยาบถ สภาพแวดล้อม และกิจกรรมต่าง ๆ มาตัดทอนออกให้เหลือเพียงรูปทรงง่าย



ความบริสุทธิ์แห่งธรรมชาติ


สุวรรณี


พักผ่อน


          
ผลงานรูปทรงนามธรรมกับเนื้อหาภายใน พ.ศ. 2507-2515 ระยะนี้อิทธิพลของศิลปะ
ร่วมสมัยโดยทั่วไปและประสบการณ์บางอย่างของชีวิตทำให้ท่านต้องการทดลองค้นคว้าศิลปะแบบ
นามธรรม เนื่องจากท่านทำงานศิลปะหลายสาขา ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์และ
เทคนิคผสม รูปทรงจึงเปลี่ยนแปลกออกไปตามวัสดุและวิธีการของแต่ละสาขา แต่เนื้อหายังเป็น
เรื่องเกี่ยวกับคน ผู้หญิง และประสบการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติ โดยการประสานกันของเส้น สี น้ำ
หนัก ปริมาตร ลักษณะผิวและวัสดุ แต่รูปทรงของคนและของธรรมชาติไม่มีปรากฏให้เห็นเด่นชัด
ในงาน จากที่เคยเป็นแนวทางของอารมณ์ความรู้สึกในเนื้อหาภายนอกเปลี่ยนมาเป็นแนวความคิด
ในการกำหนดรูปทรง


คู่


สลักหิน 3/2513


ไม่มีชื่อ 2510


          ผลงานชุดบทกวี พ.ศ. 2525 เป็นงานประเภทสื่อผสมประกอบด้วยกระดาษวาดเขียนขนาด
14 x 20 เซนติเมตร จำนวน 50 แผ่น แต่ละแผ่นท่านเขียนบทกวีด้วยภาษาทางทัศนศิลป์เป็นเส้นเป็น
สี เป็นรูปทรงสัญลักษณ์ วางอยู่ในตำแหน่งที่มีจังหวะและทิศทางเปลี่ยนแปลกแตกต่างกันเหมือน
แบบรูปของฉันทลักษณ์ จัดแขวนเรียงกันบนราวลวดมีลักษณะลอยตัว รูปทรงที่เป็นสัญลักษณ์ใน
ตัวและการประกอบกันของรูปทรงเหล่านี้เข้าด้วยกัน ในจังหวะ ลีลา และทิศทางต่าง ๆ ในงานแต่
ละแผ่น เพื่อต้องการเสนอแนะให้ผู้ชมสร้างสรรค์บทกวีขึ้นในใจตนเองอย่างเป็นอิสระ ไม่ใช่เป็น
เพียงผู้รับรู้ด้วยความหมายของภาษาตามที่กวีเป็นผู้กำหนด


บทกวี 1/2525

         ผลงานชุดบันทึกประจำวัน พ.ศ. 2522-2527 เป็นงานประเภทประติมากรรมสื่อผสมที่
สร้างขึ้นด้วยการนำวัตถุสำเร็จรูปต่าง ๆ มาติด มาแขวนหรือกองรวมกันให้เกิดรูปทรงและความ
หมายตามต้องการ ส่วนมากเป็นกระดาษที่พิมพ์หรือเขียนข้อความต่าง ๆ จดหมายที่มีมาถึง สำเนา
หนังสือของทางราชการและเอกชน ภาพถ่ายที่มีความสำคัญเตือนให้ระลึกถึง ภาพร่างวาดเส้น ภาพ
จิตรกรรมเล็ก ฯลฯ มาแขวนด้วยเชือกไนล่อนสีสดหลายสี ห้อยเกี่ยวกับแผ่นทองเหลืองรูปกลมที่
เป็นงานประติมากรรมโลหะเชื่อม มีรูพรุนมากมาย เป็นการเก็บบันทึกเหตุการณ์ที่น่าสนใจในแต่ละ
วัน เริ่มตั้งแต่ระยะแรกที่มีของแขวนอยู่ไม่กี่ชิ้น จนเมื่อเวลาผ่านมานานหลายปี สิ่งของหรือเรื่องที่
บันทึกก็เพิ่มมากขึ้นบางชิ้นก็ถูกปลดลงเมื่อหมดความสำคัญ จึงเป็นรูปทรงที่มีการเปลี่ยนแปลง
ตลอดเวลา เนื้อหาของงานส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาทางความคิดที่อาศัยเรื่องราวของวัตถุสิ่งของที่มี
ความหมายในตัวเองแต่ละชิ้น ให้ความคิดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทั้งเนื้อหาและรูปทรงที่ค่อยเป็น
ค่อยไปตามเวลาและเหตุการณ์


บันทึกประจำวัน 2523-2527


         ผลงานชุดประติมากรรมชนบท พ.ศ. 2525-2527 เป็นงานประเภทประติมากรรมตั้งอยู่กับ
ที่และประติมากรรมสื่อผสม ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานและการสอนศิลปะในช่วงเวลาหนึ่ง
ทำให้ท่านขยายขอบเขตความคิดด้านศิลปะจากการค้นหาความจริงภายในไปสู่การผสมผสานกับ
ความจริงภายนอก จากการแสดงอารมณ์ความรู้สึกด้วยรูปทรงไปสู่การแสดงออกทางความคิดมาก
ขึ้น จากรูปทรงที่สำเร็จสมบูรณ์ในตัวไปสู่รูปทรงส่วนรวมในสิ่งแวดล้อม และจากการแสดง
ลักษณะส่วนตนเพียงอย่างเดียว ขยายวงออกไปถึงความจำเป็นที่จะแสดงเอกลักษณ์บางด้านของ
ท้องถิ่นและของชาติ การได้พบเห็นวัตถุสิ่งของ เครื่องมือประกอบอาชีพ เครื่องใช้ประจำวัน รวม
ทั้งวัตถุใช้แล้วที่ถูกทิ้งขว้างอยู่ทั่วไปตามบริเวณที่อยู่อาศัย ซึ่งท่านคิดว่าเป็นสิ่งแวดล้อมทางวัฒน
ธรรมส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกถึงสภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี จึงนำวัสดุที่
เป็นบันทึกของประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้มาสร้างเป็นรูปทรงขึ้นใหม่ ด้วยท่วงทำนองที่สอดคล้องกับ
ลีลาการดำเนินชีวิตของชาวชนบทเพื่อเป็นการสื่อความรู้สึกให้เข้าถึงชีวิตและวิญญาณของชนบท
ไทยโดยทั่วไปให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น


ประติมากรรมชนบท-กระเทียม 2527


แนวเรื่องและการเปลี่ยนแปร, 2528


ประติมากรรมชนบท 4/2525


         ผลงานวาดเส้นชุดลูกสาว พ.ศ. 2528 ศาสตราจารย์ชลูดถือว่างานวาดเส้นเป็นบันทึกประจำ
วันของชีวิตด้านความคิดและอารมณ์ รวมไปถึงการแก้ปัญหาและพัฒนารูปทรง การตอบรับและ
ตอบโต้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม งานวาดเส้นชุดลูกสาวได้นำรูปแบบของผู้หญิงอย่างที่เคยใช้ใน
งานระยะแรกมาเป็นแนวเรื่องอีกครั้ง แต่รูปทรงของผู้หญิงในชุดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับความเป็น
จริงมากกว่าแต่ก่อน เทคนิคเปลี่ยนจากสีฝุ่นปิดทองมาเป็นสีอะครีลิค วรรณะส่วนรวมจากสีที่เข้ม
จัดมาเป็นสีเทาอ่อน ความรู้สึกของผู้หญิงและรูปทรงส่วนรวมของภาพแสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่ซึ่ง
ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ของชีวิตมาช่วงเวลาหนึ่ง แต่ยังคงแนวคิดเดิม หน้าที่ในการสร้างรูปทรง
ส่วนรวมแตกต่างกับระยะแรกมาก คือ เป็นรูปทรงหนึ่งที่ปรากฎตัวซ้ำ ๆ ในจังหวะต่าง ๆ ผสมกับ
การซ้ำและคลี่คลายของทัศนธาตุที่เป็นแผ่น เป็นจุด เป็นน้ำหนักและสีที่ต่างกันกระจายอยู่ทั่วภาพ


ลูกสาว 2/2528


ลูกสาว 16/2528


ลูกสาว 25/2528


          ผลงานชุดปลูกป่า พ.ศ. 2535 เป็นงานประเภทจิตรกรรมสีฝุ่นปิดทอง เช่นเดียวกับที่เคยทำ
เมื่อ พ.ศ. 2498 ความที่ท่านเป็นผู้หนึ่งที่รักต้นไม้เป็นอย่างมาก เมื่อพบเห็นต้นไม้ถูกตัดและได้รับรู้
ว่าป่าไม้ถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ ก็เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ และเสียใจที่ท่านไม่มีอำนาจอะไรที่จะ
ไปยับยั้งหรือสามารถทำให้ป่าไม้และต้นไม้ฟื้นคืนสภาพดังเดิมได้ จึงใช้จินตนาการของตนเอง
ปลูกต้นไม้ลงไปในภาพเขียนเพื่อแสดงความรู้สึกส่วนตนขณะนั้น


ปลูกป่า - ฝัน


จิตรลดาอุทยาน

          ผลงานชุดธรรมศิลป์ ช่วงหลังพ.ศ. 2534 เป็นงานประเภทจิตรกรรมสีฝุ่นบนกระดาษสา
บางครั้งใช้สีอะครีลิคแต่ไม่มีการปิดทอง มีการใช้สื่อผสมโดยการนำวัสดุต่าง ๆ เช่น ไม้ โลหะ ทอง
เหลือง ผ้า เข้าไปประกอบในงาน นอกจากจิตรกรรมยังมีงานวาดเส้นและงานประติมากรรมกับสิ่ง
แวดล้อม แรงบันดาลใจในการทำงานชุดนี้มาจากความสนใจเกี่ยวกับพุทธศาสนา โดยเฉพาะช่วง
หลังจากเกษียณอายุราชการก็ยิ่งสนใจมากขึ้นถึงขั้นลงมือฝึกปฏิบัติทางศาสนาด้วยตนเอง ทั้งการ
กำหนดสติ ทำสมาธิ พิจารณาสภาวะความเป็นจริงของชีวิตและโลก งานชุดธรรมศิลป์ของท่านไม่
ได้มีความหมายเดียวกับ "พุทธศิลป์" ที่ใช้กันทั่วไป แต่หมายถึง ศิลปะที่ทำเกี่ยวกับธรรมะ โดยนำ
ธรรมะมาใช้เป็นจุดเริ่มของงานศิลปะ ไม่ใช่เป็นการสร้างงานเพื่อธรรมะ เมื่อมองแล้วให้คิดไปได้
ว่าเกี่ยวกับศาสนา โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสวรรค์ นิพพาน เทวดา พรหม ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่กล่าวไว้
ในพระศาสนาทั้งสิ้น


มหานครนิพพาน 2,2536


โพธิบัลลังก์ 2538


          ผลงานชุดแบกะดิน พ.ศ. 2541 เป็นผลงานประเภทประติมากรรม สื่อผสม ได้รับแรง
บันดาลใจจากสภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในชนบท เริ่มต้นจากการวาดเส้นในท้องทุ่ง ชีวิตของ
ชาวนาในท้องนาและลงทำนาด้วยตนเอง เมื่อกลับมาจากนาสิ่งที่ได้รับคือ ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ของ
ผืนนา และการทำนาที่เต็มและอิ่มด้วยชีวิตทั้งทางกายทางใจและทางวัฒนธรรม ทำให้ท่านได้คิดว่า
สิ่งเหล่านี้น่าจะมีคุณค่าไม่น้อยกว่างานศิลปะที่มักจะยกย่องกันจนสูงเกินไปว่าเป็นทิพย์ ประเทือง
ปัญญาอะไรทำนองนั้น งานชุดนี้ท่านอยากให้ข้อคิดว่า ศิลปะไม่ใช่สิ่งที่สูงส่งกว่ากิจกรรมอื่น ๆ
ของมนุษย์ จึงอยากจะดึงศิลปะให้มาอยู่กับดิน ไม่จำเป็นต้องอยู่บนแท่น อยู่ในกรอบ อยู่ในสถานที่
ที่โอ่อ่าอีกต่อไป ท่านจึงนำผลงานที่สร้างมาเกือบทุกยุคมาวางลงกับพื้นดิน ในแนวคิดที่ว่าศิลปะก็
เหมือนกับสินค้าแบกะดินทั่ว ๆ ไปที่ผู้คนจะซื้อหาไปด้วยราคาถูก ๆ ด้วยแนวคิดนี้ท่านได้นำผล
งานที่สร้างมาแต่ก่อนทั้งหมดมาวางลงกับพื้นดิน และยังมีการจัดสร้างผลงานเกี่ยวกับครัวชาวนา
ด้วย งานชื่อบันทึกของศิลปินชนบทมีลักษณะและแนวคิดคล้ายกับงานบันทึกประจำวัน โดยเฉพาะ
วิธีแขวนห้อยงานต่างๆ ไว้บนราวกลางห้อง และคล้ายกับงานแบกะดินในแง่ของการนำงานยุคต่างๆ
มา แขวนกระจายกันเหมือนสินค้าในร้านชำชนบท นอกจากนี้ยังมีงานครัวชนบทอีกชิ้นหนึ่งด้วย


บันทึกศิลปินในชนบท 2496-2541


แบกะดิน 2496-2541


ครัวชนบท


          ผลงานชุดปลูกป่าชุดที่ 2 ช่วงปัจจุบัน เป็นผลงานประเภทจิตรกรรมสีฝุ่น สีอะครีลิคปิด
ทอง เป็นแรงบันดาลใจต่อเนื่องจากการทำผลงานชุดปลูกป่าชุดที่ 1 ในพ.ศ. 2535 ซึ่งหลังจากนั้น
ประมาณ 10 ปี ป่าที่ท่านได้ลงแรงลงใจปลูกไว้ด้วยจินตนาการในงานจิตรกรรมปลูกป่าชุดแรกและ
ที่ปลูกไว้จริงบริเวณหลังบ้านก็เจริญเติบโต มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น ผลงานศิลปะชุดหลัง ๆ นี้นับ
ว่าเกี่ยวเนื่องกับตัวเองและมักเป็นสิ่งที่ห้อมล้อมตัวอยู่ ทำให้มีความรู้สึกคล้ายกับว่าตัวท่านเข้าไป
ในศิลปะ ศิลปะได้กลายเป็นสิ่งแวดล้อมของท่าน ส่วนเนื้อหาของงานยังเกี่ยวกับความผูกพันของ
ครอบครัว ของแม่ ของลูก ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ


ผมตัดหาบข้าว


ยืนกอดลูกโคนต้นไม้


หาบกระบุงข้าวหมายเลข 2