งานวันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)

ประจำปี ๒๕๕๔

 
"เจ้าสัว"ผู้สร้างมรดกความทรงจำแห่งโลก
 
 

   มรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) เป็นแผนงานที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก กำหนดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ (ค.ศ. ๑๙๙๒) มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของโลกที่บันทึก ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะบันทึกไว้ในรูปแบบใดหรือของประเทศใดก็ตาม ถือว่าเป็นแหล่งรวมความคิด ความรู้ประสบการณ์
ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทั้งในด้านของวัฒนธรรม จากสังคมในอดีตให้แก่สังคมปัจจุบัน และเพื่อที่จะสืบสาน ส่งต่อให้แก่สังคมในอนาคต

   ในประเทศไทยปัจจุบันมีคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกเป็นผู้ดูแล มรดกความทรงจำแห่งโลก ของประเทศไทยที่ได้รับขึ้นทะเบียนแล้ว ได้แก่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. ๒๕๔๖) เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เอกสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสยาม (พ.ศ.๒๕๕๒) และจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (พ.ศ.๒๕๕๔)

   องค์การยูเนสโกได้รับรองจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 
ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ยูเนสโกยังได้รับรองสิ่งดังกล่าวนี้จำนวน ๑,๔๔๐ ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในทะเบียนนานาชาติ

   วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารหรือวัดโพธิ์เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่ราษฎรสร้าง ขึ้นมาตั้งแต่
สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนกระทั่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  รัชกาลที่ ๑
ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และถือว่าเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ ๑ ครั้นต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ครั้งใหญ่อีกครั้ง

   จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เกิดขึ้นจากพระราชดำริ ของ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็น แหล่ง เล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชนไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์ เป็น
“มหาวิทยาลัย สำหรับประชาชนทั่วไป” พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คัดเลือกตำรับตำราต่างๆที่มีมาแต่เดิม หรือประชุม ผู้รู้
ใน วิชานั้นๆมาแต่งขึ้นใหม่ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จารึกลงบนศิลาประดับไว้ในที่ต่างๆ ภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เนื้อหาที่ปรากฏในจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารสามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้

    หมวดประวัติศาสตร์ ได้แก่ จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ ๑,จารึกครั้งรัชกาลที่ ๑ จดหมายเหตุ
เรื่องว่า ด้วย พระบรมธาตุมาแต่เมืองน่าน, การปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนถอดจากโคลงดั้นฯ,พระพุทธเทวปฏิมากร,พระพุทธโลกนาถ,
พระพุทธมารวิชัย,พระพุทธชินราช,พระพุทธชินศรี,พระพุทธปาลิไลย,พระพุทธศาสดา,พระพุทธไสยาสน์,รายการแบ่งด้าน ปฏิสังขรณ์
ถอดจากโคลงดั้นฯ, โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน (พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)
และโคลงบอกด้านการปฏิสังขรณ์

   หมวดพระพุทธศาสนา ได้แก่ จารึกเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ ๔๑ องค์ ติดไว้ที่เชิงผนังหน้าต่างระหว่างพระอุโบสถเนื้อหาอธิบาย ถึง
ประวัติของพระเถระแต่ละรูป เหตุที่ออกบวชและคุณสมบัติพิเศษที่ได้รับการยกย่องไว้ใน ตำแหน่งเอตทัคคะของพระเถระแต่ละองค์
เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอัญญาโกณฑัญญะ ฯลฯ, จารึกเรื่องพระสาวิกาเอตทัคคะ ๑๓ องค์ ที่อยู่เชิงผนังหน้าต่าง พระวิหาร
พระพุทธไสยาสน์,จารึกเรื่องอุบาสกเอตทัคคะ ๑๐ คน,จารึกเรื่องอุบาสิกาเอตทัคคะ ๑๐ คน, จารึกเรื่องอสุภ ๑๐ และญาณ ๑๐, จารึก
เรื่องฎีกาพาหุง ๘ บท,จารึกเรื่องพระพุทธบาท, จารึกเรื่องธุดงค์ ๑๓,จารึกเรื่องพาหิรนิทาน,จารึกเรื่องอรรถกถาชาดก, จารึก
เรื่องศาลารายหลังที่ ๑, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๒,จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๓,จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๔,จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๐,จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๒, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๓ ,จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๖, จารึกเรื่องศาลาการเปรียญ, จารึก
เรื่องเวสสันดรชาดก,จารึกเรื่องมหาวงษ์,จารึกเรื่องนิรยกถาและจารึกเรื่องเปรตกถา หมวดวรรณคดี ได้แก่ จารึกเรื่องรามเกียรติ์, จารึก
นิทานสิบสองเหลี่ยม ที่จารึกไว้ที่คอสอง เฉลียงศาลาล้อมพระมณฑปทิศตะวันตก
(ปัจจุบันศาลาแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของมีค่าของวัด), จารึกตำราฉันท์วรรณพฤติ, จารึกตำราฉันท์มาตราพฤติ, จารึกเพลงยาว กลบท
และกลอักษร, จารึกโคลงกลบท ที่ติดอยู่ตาม พระระเบียง ของพระอุโบสถ และจารึกโคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ ที่เป็นแผ่นหินอ่อน
อยู่รอบพระอุโบสถ หมวดทำเนียบ ได้แก่ จารึกทำเนียบ ตราตำแหน่ง สมณศักดิ์, จารึกทำเนียบหัวเมืองขึ้น
ของกรุงสยามและผู้ครองเมือง และจารึกโคลงภาพคนต่างภาษา จารึกอยู่ตามผนังเฉลียงสกัด ศาลาราย รอบวัด เพื่ออธิบายลักษณะ
อุปนิสัย บ้านเมืองชาวต่างประเทศที่ชาวสยามคุ้นเคย หมวดประเพณี ได้แก่ จารึกเรื่อง รามัญหุงข้าวทิพย์, จารึกเรื่องมหาสงกรานต์, จารึกเกี่ยวกับ ริ้วกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารค เป็นต้น หมวดสุภาษิต ได้แก่ จารึกฉันท์กฤษณาสอนน้อง อยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้า
พระมหาเจดีย์หลังเหนือ, จารึกฉันท์พาลีสอนน้อง อยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้า พระมหาเจดีย์ทิศใต้, จารึกสุภาษิตพระร่วง,
จารึกฉันท์อัษฎาพานร และจารึกโคลงโลกนิติ มีจำนวน ๔๒๐ บทด้วยกัน อยู่ที่ผนังด้านนอกศาลา ทิศพระมณฑป

    หมวดอนามัย ได้แก่ จารึกโคลงภาพฤาษีดัดตน เป็นท่าดัดตนทั้ง ๘๐ ท่าที่จะแก้การปวดเมื่อยของอวัยวะต่างๆ และจารึก
อาธิไท้ โพธิบาทว์ เป็นต้น รวมทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปั้นรูปสลักหินฤาษีดัดตนในท่าต่างๆ จำนวนทั้งหมด ๘๐ ท่า
สำหรับอธิบาย ประกอบตำรับตำรา ปัจจุบันเหลืออยู่ ๒๔ ท่า

 
     
 
กำหนดการกิจกรรม >>
 
 
แผ่นพับกิจกรรม >>
 
 
ภาพกิจกรรม >>
 

 

 

 

 

 

Copyright (c) 2011 Audios and Visuals Section, @Thapra Library