งานวันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ประจำปี ๒๕๕๕

"ศิลปากร ศิลปวิทยาการ ในสมัยรัชกาลที่ ๓"

 
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับวังท่าพระ
 
 

  พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์รัชกาลที่สามแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาเรียม  พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๓๐ ณ พระราชวังเดิมในแผ่นดินสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกบรมราชาธิราช จำเดิมกาลเมื่อแรกประสูตินั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เพียงหม่อมเจ้าชายทับตามแบบแผนธรรมเนียมแห่งราชสกุลในกรุงสยามที่กำหนดให้พระโอรสธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าที่ประสูติแต่พระชนนีที่เป็นสามัญชนดำรงสกุลยศหม่อมเจ้า ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษก ทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่พระมหาอุปราชแล้ว หม่อมเจ้าชายทับรวมทั้งบรรดาพระโอรส-ธิดา ที่ทรงดำรงพระอิสริยยศหม่อมเจ้าทั้งมวล ได้เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้าตามฐานันดรศักดิ์แห่งพระบวรราโชรสและบวรราชธิดาทุกพระองค์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทาน พระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช ให้ตั้งการพระราชพิธีเกศากันต์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นพิเศษ และในปลายรัชกาลนั้นก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามในฐานะ “พระราชนัดดาพระองค์ใหญ่” เฉพาะพระพักตร์อีกคราวหนึ่ง

  ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียงยี่สิบพรรษาได้รับพระราชทานสถาปนาให้ดำรงพระยศเป็นพระเจ้าหลานเธอและได้ทรงรับราชการจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยยิ่งกว่าพระราชโอรสพระองค์อื่นใดในรัชกาลสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชพระองค์นั้น ครั้นสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯและสมเด็จพระบรมชนกนาถได้เสด็จขึ้นผ่านพิภพเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเผอิญได้บังเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในต้นรัชกาล สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระองค์เจ้าชายทับทรงดำเนินการสืบพยานหลักฐานตามที่ได้มีผู้กราบบังคมทูลกล่าวโทษสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต ซึ่งพระองค์เจ้าชายทับก็ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจรับสนองพระบรมราชโองการได้รวดเร็วลุล่วงไปได้ด้วยดี เมื่อความแจ้งว่าสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตคิดกบฎ และต้องพระราชอาญาสำเร็จโทษเป็นที่สุดแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระองค์เจ้าชายทับเสด็จประทับ ณ วังท่าพระ อันเป็นวังของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตมาแต่เดิม ในราวปีพุทธศักราช ๒๓๕๒ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๒๓ พรรษา

  สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานวังท่าพระให้เป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าชายทับ ก็เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับใช้ในราชการสำคัญเป็นเนืองนิจ ฉะนั้นการที่พระองค์เจ้าชายทับได้ประทับอยู่ใกล้ชิดพระบรมมหาราชวัง จึงเป็นการเหมาะสมในความสะดวกด้วยประการทั้งปวง กล่าวกันว่า พระองค์เจ้าชายทับนั้นต้องเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถทั้งเช้าค่ำมิได้ขาด ไม่ว่าฝนตกแดดออกก็ทรงพระเสลี่ยงจากวังท่าพระ เสด็จเข้าพระบรมมหาราชวังทุกครั้งจนกระทั่งสมเด็จพระบรมชนกนาถทอดพระเนตรพระเจ้าลูกเธอเสด็จฝ่าฝนเปียกพระวรกาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ช่างทำแค่กันยา คือแค่มีหลังคาเล็กหุ้มด้วยผ้าขี้ผึ้งพระราชทานในปีพุทธศักราช ๒๓๕๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้ทรงสถาปนาพระยศพระองค์เจ้าชายทับขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 26 พรรษา กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยทรงบัญชางาน ณ วังท่าพระนี้ในตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง เป็นต้นว่า ทรงบัญชากรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจการศาลฎีกา กรมท่า การช่างโยธาและโรงงาน อาทิ

   

 
     
 
กำหนดการกิจกรรม >>
 
 
ภาพกิจกรรม >>
 

 

 

 

 

 

Copyright (c) 2011 Audios and Visuals Section, @Thapra Library